top of page
รูปภาพนักเขียนDoctor Anywhere Thailand

6 วิธีคุมน้ำหนักยอดฮิต เพื่อหุ่นที่ดีต้อนรับปีใหม่!


หลายๆ คนคงตั้งเป้าหมายในปีใหม่ว่าอยากมีหุ่นดีและสุขภาพที่แข็งแรง วันนี้เรามี 6 วิธีคุมน้ำหนักยอดฮิตที่ได้ผลมาฝากกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนักแบบรวดเร็วหรือการปรับปรุงสุขภาพโดยรวม เรามาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี เพื่อให้คุณเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด!


The Atkins Diet (Low-Carb Diet)

The Atkins Diet หรือ Low-Carb Diet เป็นวิธีคุมน้ำหนักที่คนรู้จักกันดี โดยเน้นการลดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตและเพิ่มปริมาณโปรตีนและไขมันในอาหาร เป้าหมายของการควบคุมอาหารแบบนี้คือการกระตุ้นการเผาผลาญไขมันในร่างกายเพื่อลดน้ำหนัก โดยที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปริมาณแคลอรีที่ควรกิน แต่เน้นการเลือกอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ


แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก:


  1. ขั้นตอนการเริ่มต้น (Induction Phase): เป็นขั้นตอนที่เคร่งครัดที่สุด โดยการจำกัดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตประมาณ 20–25 กรัมต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากผักที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ขั้นตอนนี้มุ่งเน้นการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วโดยการส่งเสริมการเผาผลาญไขมัน

  2. ขั้นตอนการปรับสมดุล (Balancing Phase): เมื่อร่างกายปรับตัวกับการรับคาร์โบไฮเดรตที่ต่ำแล้ว ให้เริ่มกลับมาทานคาร์โบไฮเดรต แต่ในจำนวนทีละน้อยๆ

  3. ขั้นตอนก่อนการรักษาน้ำหนัก (Pre-Maintenance Phase): ในขั้นตอนนี้ เป้าหมายคือการชะลอการลดน้ำหนักเมื่อเข้าใกล้เป้าหมาย ซึ่งสามารถเพิ่มคาร์โบไฮเดรตจนน้ำหนักค่อยๆลดช้าลง

  4. ขั้นตอนการรักษาน้ำหนัก (Maintenance Phase): เป็นขั้นตอนรักษาน้ำหนักระยะยาว โดยการหาความสมดุลของคาร์โบไฮเดรตที่สามารถบริโภคได้โดยไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น


ข้อดี:

  • สามารถช่วยลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว

  • ช่วยลดไขมันหน้าท้องและปรับปรุงค่าต่างๆในร่างกาย เช่น น้ำตาลในเลือด และ ไตรกลีเซอไรด์


ข้อเสีย:

  • อาจขาดวิตามินและแร่ธาตุจากผักและผลไม้

  • เสี่ยงโรคหัวใจจากการทานไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์ที่เยอะ และมีอาการท้องผูกในบางคน

  • อาจไม่ยั่งยืน


Vegan Diet

Vegan diet คือการทานอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก โดยการหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งหมด เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และส่วนผสมที่มาจากสัตว์ โดยเน้นการรับประทานอาหารจากพืช เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืช ถั่ว เมล็ดพืช และถั่วต่างๆ


ข้อดี:

  • ลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด

  • ช่วยควบคุมน้ำหนัก เพราะอาหารวีแกนมักมีแคลอรีต่ำและมีไฟเบอร์สูง 

  • ดีต่อสุขภาพระบบย่อยอาหาร


ข้อเสีย:

  • อาจขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามิน B12 และเหล็ก

  • อาจต้องมีการเลือกและจัดเตรียมอาหารอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน

  • การทานไฟเบอร์มากเกินอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก

  • อาจยากในการหาทางเลือกอาหารที่เป็นวีแกน


Keto Diet

การทานอาหารคีโต (Keto)คือการทานอาหารที่มีไขมันสูง โปรตีนปานกลาง และคาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งทำให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะ คีโตซิส (Ketosis)และสามารถนำไขมันมาใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักแทนคาร์โบไฮเดรตได้


ข้อดี:

  • ช่วยลดน้ำหนักได้เร็ว โดยเฉพาะในช่วงแรก เพราการลดคาร์โบไฮเดรตทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันเป็นพลังงาน

  • การลดคาร์โบไฮเดรตช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งดีต่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2

  • การบริโภคไขมันสูงและโปรตีนปานกลางช่วยให้รู้สึกอิ่มนาน ทำให้ลดความอยากอาหาร


ข้อเสีย:

  • อาจทำให้มีอาการข้างเคียงในช่วงแรก เช่น อ่อนเพลีย ปวดหัว หรือท้องผูก

  • การจำกัดคาร์โบไฮเดรตอาจทำให้ขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามิน C และเส้นใยอาหาร ซึ่งสำคัญสำหรับสุขภาพระบบย่อยอาหาร

  • การทานอาหารที่มีไขมันสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ



Intermittent Fasting (IF) 

Intermittent Fasting (IF) คือการทานอาหารที่สลับระหว่างช่วงเวลาอดอาหารและช่วงเวลาในการทานอาหาร โดยไม่กำหนดว่าให้ทานอาหารอะไร แต่เน้นที่ เวลา ในการทานอาหาร เป้าหมายของการอดอาหารแบบสลับช่วงคือการให้ร่างกายมีช่วงเวลาหยุดพักจากการย่อยอาหารเพื่อส่งเสริมประโยชน์ด้านสุขภาพต่างๆ


วิธีการทั่วไปในการอดอาหารแบบสลับช่วง ได้แก่:


  1. วิธี 16/8: ทานอาหารในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง และอดอาหารในช่วง 16 ชั่วโมงที่เหลือ 

  2. วิธี 5:2: ทานอาหารตามปกติ 5 วันในหนึ่งสัปดาห์ และจำกัดแคลอรี่ (ประมาณ 500-600 แคลอรี) ใน 2 วันที่เหลือ (เลือกวันได้)

  3. วิธี Eat-Stop-Eat: อดอาหาร 24 ชั่วโมง ทำหนึ่งถึงสองครั้งต่อสัปดาห์ 

  4. วิธีอดอาหารแบบสลับวัน: อดอาหารวันเว้นวัน วันที่ไม่อดสามารถทานได้ตามปกติ


ข้อดี:

  • ง่ายต่อการวางแผนมื้ออาหาร

  • การจำกัดช่วงเวลาในการทานอาหารทำให้ปริมาณแคลอรีลดลง ซึ่งสามารถช่วยในการลดน้ำหนัก

  • การอดอาหารช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินและเพิ่มการเผาผลาญไขมัน


ข้อเสีย:

  • มีความเสี่ยงที่จะทานอาหารมากเกินไปในช่วงเวลาที่ทานอาหาร ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ลดลง

  • อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

  • ในช่วงเริ่มต้นของการอดอาหารอาจรู้สึกหิวหรือหงุดหงิดได้


Ultra-Low-Fat Diet

Ultra-Low-Fat Diet คือการทานอาหารที่จำกัดการบริโภคไขมันให้ได้มากที่สุด ซึ่งควรน้อยกว่า 10% ของแคลอรีทั้งหมดในแต่ละวัน อาหารประเภทนี้มักเน้นการทานอาหารที่มีไขมันต่ำมาก เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืช และพืชตระกูลถั่ว


ข้อดี:

  • การลดไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยควบคุมความดันโลหิต

  • การจำกัดการบริโภคไขมันช่วยลดแคลอรีในอาหาร และอาจช่วยลดน้ำหนักได้


ข้อเสีย:

  • อาจขาดสารอาหารที่สำคัญบางชนิด เช่นวิตามิน A, D, E, K

  • อาจทำให้รู้สึกหิวบ่อย 

  • อาจทำให้ร่างกายขาดแหล่งพลังงานที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานในการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ใช้พลังงานมาก



Calorie Restriction Diet 

Calorie Restriction Diet คือการลดปริมาณแคลอรีที่บริโภคลงโดยไม่ขาดสารอาหารที่จำเป็น โดยเน้นการทานอาหารที่มีแคลอรีต่ำกว่าที่ร่างกายต้องการสำหรับการรักษาน้ำหนักตัวปัจจุบัน แต่ยังคงให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ


ข้อดี:

  • การลดแคลอรีช่วยในการลดน้ำหนัก เพราะร่างกายจะเผาผลาญพลังงานจากไขมันสะสมมากขึ้น

  • ลดความเสี่ยงโรคต่างๆได้ เช่น โรคเบาหวาน มะเร็งบางชนิด และโรคหลอดเลือดสมอง

  • อาจช่วยยืดอายุและลดกระบวนการชราภาพ


ข้อเสีย:

  • อาจทำให้รู้สึกหิวหรือเหนื่อยล้า

  • การลดแคลอรีมากเกินไปอาจทำให้ขาดสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามินและแร่ธาตุ

  • อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคบางประเภท เช่น โรคเบาหวาน หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร




ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวิธีการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว หรือการปรับปรุงสุขภาพโดยรวม 6 วิธีคุมน้ำหนักยอดฮิตที่เราแนะนำ ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากคุณกำลังมองหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง ควรเลือกวิธีที่เข้ากับเป้าหมาย ความชอบ และไลฟ์สไตล์ของคุณให้ดีที่สุด


ก่อนที่จะเริ่มต้นการคุมน้ำหนักด้วยวิธีใดๆ อย่าลืมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหรือโภชนาการ เพื่อให้แน่ใจว่าแผนการทานอาหารที่เลือกนั้นปลอดภัยและเหมาะสมกับสุขภาพของคุณ และสามารถบรรลุเป้าหมายในปีใหม่และมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน 💙



ที่มา: https://www.healthline.com/nutrition/9-weight-loss-diets reviewed#TOC_TITLE_HDR_11


ดู 109 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page